หากคุณคือเทรดเดอร์ที่ตบเท้าเข้ามาสู่ตลาด Forex อย่างจริงจังแล้ว ก็คงจะรู้ดีว่ามีหลายอย่างมากมายที่ต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เพื่อให้ส่งผลต่อการซื้อขายคู่สกุลเงินให้ทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ
และหนึ่งในข้อมูลที่ต้องคอยติดตามในตลาด Forex นี้ก็คือเรื่องของค่าเงินอ่อนและแข็ง เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลต่อกราฟราคา ซึ่งในบทความนี้ก็จะพามาทำความรู้จักพื้นฐานเกี่ยวกับกราฟราคา อะไรที่ทำให้กราฟราคาปรับตัวรวมถึงทำไมกราฟราคาถึงมีการปรับตัวขึ้น/ลง
หลักการพื้นฐานของกราฟราคาในตลาด Forex
โดยทั่วไปแล้วในตลาด Forex การที่กราฟราคามีการปรับตัวขึ้น/ลงนั้น มีเหตุผลหลักคือการที่ค่าเงินอ่อนหรือแข็งค่า ยกตัวอย่างเช่น USD/THB
หาก USD/THB มีค่าเท่ากับ 30 หมายความว่าสกุลเงินรองจะต้องนำเงิน 30 บาท เพื่อจะไปแลกสกุลเงินหลัก 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ยิ่งเงินบาทมีการอ่อนค่ามากเท่าไหร่ สกุลเงินรองก็จะปรับตัวสูงขึ้นมากเท่านั้น เป็น 35, 40 … แต่หากในทางกลับกันสกุลเงินหลักอ่อนค่า สกุลเงินรองก็จะปรับตัวลดลง เป็น 25, 20 … (เพราะว่าดอลล่าร์สหรัฐมีค่าลดลง) ดังนั้นเงินที่เทรดเดอร์จะนำไปซื้อดอลล่าร์สหรัฐก็ต้องจ่ายน้อยลง
และนี่คือภาพรวมของกราฟราคาในตลาด Forex ถึงตอนนี้บางคนอาจจะสงสัยแล้วว่าเกี่ยวกับการติดตามข่าวสารข้อมูลอย่างไร ซึ่งต่อไปจะขอพูดถึงเรื่องข่าวที่มีผลกระทบต่อกราฟราคานั่นเอง
หลักการค่าเงินอ่อนค่า/แข็งค่า ที่ส่งผลกระทบต่อกราฟราคาในตลาด Forex
ในตลาด Forex นั้น ไม่ได้มีการซื้อขายอยู่แค่เพียงสกุลเงินเดียว ไม่ใช่ว่ามีการเกร็งกำไรดอลล่าร์สหรัฐสกุลเงินเดียวโดยไม่ได้เปรียบเทียบกับใครเลย การเทรดในตลาด Forex โดยทั่วไปสกุลเงินก็จะมีการเปรียบเทียบกัน เช่น ดอลล่าร์สหรัฐกับทองคำ เป็นต้น
ในการเกร็งกำไรในตลาด Forex โดยพื้นฐานก็จะเปรียบเทียบกันระหว่างสองสกุลเงินจะเรียกว่า “คู่เงิน” สกุลเงินขึ้นต้นจะเรียกว่า “ค่าเงินหลัก” และสกุลเงินต่อท้ายจะเรียกว่า “ค่าเงินรอง” เช่นเดียวกับที่ได้ยกตัวอย่าง USD/THB ไปแล้ว ซึ่ง USD ก็คือค่าเงินหลัก และ THB ก็คือค่าเงินรองนั่นเอง
แล้วรู้ไหมว่าทำไม USD ถึงอยู่ข้างหน้า แล้ว THB ทำไมถึงอยู่ต่อท้าย แล้วทำไมเวลาเป็น EUR/USD สกุลเงินที่อยู่ข้างหน้าถึงเป็น EUR และสกุลเงินต่อท้ายถึงเป็น USD ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าได้มีการจัดอันดับสกุลเงินไว้ดังนี้
1. EUR
2. GBP
3. AUD
4. NZD
5. USD
6. CAD
7. CHF
8. JPY
เมื่อ EUR จับคู่กับ USD จึงทำให้ EUR อยู่ข้างหน้าเพราะ EUR อยู่ลำดับที่ 1 และ USD อยู่ลำดับที่ 5 นั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเอาสกุลเงินอะไรก็ตามมาจับคู่กับ EUR สกุลเงินยูโรจะอยู่หน้าเสมอเพราะว่าจัดอยู่ในลำดับที่ 1 และถ้าสกุลเงินทั้ง 8 อันดับนี้ไปจับคู่กับสกุลเงินที่ไม่ได้อยู่ใน 8 อันดับนี้ เช่น สกุลเงินไทยบาท THB จะต้องอยู่ข้างหลังเสมอ ทั้งนี้เป็นการจับอันดับโดยธนาคารกลางของยุโรป
แต่บางคนก็อาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ! แล้วการที่สกุลเงินนั้นถูกจับให้อยู่ข้างหน้าหรือต่อท้ายนั้นมีผลต่อค่าเงินนั้นหรือไม่ ซึ่งก็ตอบได้เลยว่าไม่มีผลเลย
อะไรทำให้ค่าเงินอ่อน/แข็งค่า
สิ่งที่ทำให้เงินอ่อนหรือแข็งค่านั้นมีหลายปัจจัยมากซึ่งเป็นปัจจัยโดยรวมของแต่ละประเทศ ดังนั้นบทความนี้จะไม่ได้เจาะเข้าไปในรายละเอียดแต่จะอธิบายภาพรวมของปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินอ่อนหรือแข็งค่านั่นเอง
ค่าเงินอ่อนค่าคือ สกุลเงินที่ไม่ได้เป็นที่ต้องการมากสักเท่าไหร่ และค่าเงินแข็งค่าคือ สกุลเงินที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ยกตัวอย่างเช่น หากประเทศไทยไม่ได้มีใครอยากมาลงทุนเลย มูลค่าของสกุลเงินบาทก็จะมีการอ่อนค่า เพราะการที่ต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทยนั้นจะต้องนำเงินของประเทศนั้น ๆ มาซื้อเงินบาทเพื่อที่จะลงทุน เช่น นายทุนที่ต้องการมาตั้งโรงงานในประเทศไทยก็ต้องนำเงินสกุลเงินของประเทศตัวเองมาซื้อเงินบาท เพราะการจ้างแรงงานก็ต้องใช้เงินบาทในการจ่าย เงินบาทก็จะเป็นที่ต้องการและมีมูลค่าสูงมากขึ้นนั่นเอง
ในทางกลับกันหากเงินบาทไม่ได้เป็นที่ต้องการมีแต่คนอยากขายทิ้ง มูลค่าเงินบาทก็จะมีการปรับตัวอ่อนลง ยกตัวอย่างเช่น ที่ประเทศไทยมีอัตราดอกเบี้ยที่ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าที่สหรัฐอเมริกามีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ โดยปกติแล้วเงินจะไหลจากสถานที่ ๆ มีผลตอบแทนต่ำไปยังที่ ๆ มีผลตอบแทนสูง แบบนี้ก็หมายความว่าเงินจะไหลออกจากประเทศไทยนั่นเอง นักลงทุนก็จะขายเงินบาท เพราะว่าผลตอบแทนจากเงินบาทมีอัตราดอกเบี้ยแค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ถ้านำเงินไปลงทุนที่สหรัฐอเมริกาก็จะได้ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยถึง 5 เปอร์เซ็นต์ จากตัวอย่างนี้ก็บอกได้ว่ามูลค่าของสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐก็จะมีการแข็งค่าขึ้นและปรับตัวสูงขึ้น
และนี่ก็หลักการโดยทั่วไปของความต้องการซื้อและความต้องการขาย แต่ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันอีกสักหนึ่งเหตุการณ์ ในช่วงที่น้ำท่วมในประเทศไทยสินค้าทางการเกษตรส่วนใหญ่ก็โดนน้ำท่วมหมดทำให้มีในปริมาณที่ค่อนข้างจำกัด เมื่อเป็นแบบนี้แล้วจึงทำให้ความต้องการขายน้อยกว่าความต้องการซื้อ อันนี้ก็หลักเดียวกันกับค่าเงินเลย คือหากมีความต้องการซื้อน้อยสกุลเงินนั้นก็จะมีมูลค่าน้อยลง แต่หากมีการซื้อเยอะสกุลเงินนั้น ๆ ก็จะมีการปรับตัวสูงขึ้นนั่นเอง คราวนี้ก็จะเห็นภาพรวมแล้วว่าการที่กราฟราคาของคู่เงินนั้น ๆ มีการปรับตัวลงหรือสูงขึ้น นั่นก็เป็นเพราะว่ามูลค่าของสกุลเงินนั้นมีการอ่อนหรือแข็งค่าขึ้นนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น USD/THB = 30 ก็หมายความว่า 30 บาท มีค่าเท่ากับ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือหากว่าอยากได้เงิน 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ก็ต้องเอาเงิน 30 บาทไปซื้อ แล้วถ้าเงินบาทอ่อนค่าล่ะจะเป็นอย่างไร? กราฟราคาจะปรับตัวขึ้นหรือปรับตัวลง คำตอบคือกราฟราคาจะมีการปรับตัวขึ้น เพราะว่าเงินบาทไม่ได้เป็นที่ต้องการมากนักในตลาด 30 บาทที่เคยไปซื้อได้ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ แต่ตอนนี้มูลค่าของไทยบาทลดลง ก็เลยอาจจะทำให้กลายเป็น USD/THB = 40 แปลว่าตอนนี้ต้องนำเงิน 40 บาท เพื่อที่จะไปซื้อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ
ย้อนกลับไปในช่วงที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี 2540 หรือที่เรียกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ในตอนนั้นเงินบาทมีมูลค่าลดลงมาก เพราะแทบจะไม่มีใครอยากถือเงินบาทเลย ทำให้จากที่ก่อนเกิดวิกฤต USD/THB = 25 แต่พอเกิดวิกฤตแล้วค่าเงินวิ่งไปถึงที่ USD/THB = 56 เลยทีเดียว เรียกว่าอ่อนค่าไปมากกว่าเท่าตัวเลย สาเหตุหลัก ๆ ก็เพราะมีคนที่ต้องการจะขายเงินบาทมากกว่าต้องการที่จะซื้อ ซึ่งตรงนี้ก็สามารถใช้เป็นหลักการทั่วไปในการวิเคราะห์กราฟราคาได้เลย กราฟราคาในคู่เงินนั้นจะมีการปรับตัวขึ้นหรือปรับตัวลง ก็ดูได้จากการอ่อนหรือแข็งค่าของสกุลเงินนั้น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน
ตัวเลขจากข่าว
จากที่เราเคยมีบทความรู้ได้อย่างไรว่าข่าวเป็นบวกหรือลบในการเทรดด้วย Forex Factory ในเนื้อหาต่อไปนี้เทรดเดอร์ก็สามารถนำไปผนวกกันเพื่อใช้ในการวิเคราะห์กราฟราคาได้ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าข่าวบอกว่า USD กำลังอ่อนค่า ถ้าเทรดเดอร์ที่จับคู่ EUR/USD ที่เท่ากับ 1.5 (ตัวเลขสมมติเท่านั้น) ก็จะหมายความว่า EUR/USD อาจจะปรับตัวเป็นเท่ากับ 2 เพราะ 1.5 ดอลล่าร์สหรัฐจะไม่เพียงพอเพื่อที่จะไปแลก 1 ยูโรแล้ว ตรงนี้ก็คือพื้นฐานเลย
หรือยกตัวอย่างในส่วนของทองคำ XAU/USD = 1,900
เช่นเดิมข่าวบอกว่าดอลล่าร์สหรัฐกำลังอ่อนตัวลง ดังนั้น XAU/USD จะไม่เท่ากับ 1,900 แล้ว เพราะดอลล่าร์สหรัฐมีค่าลดลง เพราะฉะนั้นก็ต้องนำเงินดอลล่าร์สหรัฐที่มากขึ้นเพื่อที่จะไปซื้อทองคำ 1 ออนเท่าเดิม ก็อาจจะเป็น XAU/USD = 1,950 และนี่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นด้วยเช่นกัน ก็คือเมื่อดอลล่าร์สหรัฐอ่อนค่านั่นเอง ซึ่งสามารถเข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมได้ในบทความการวิเคราะห์ทองคำ vs ดอลล่าร์สหรัฐ: ความสัมพันธ์และผลกระทบ
ในทางกลับกันถ้าดอลล่าร์สหรัฐแข็งค่าก็หมายความว่า USD มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น ก็จะใช้เงินน้อยลงในการไปซื้อทองคำ ราคาก็อาจจะปรับเป็น XAU/USD = 1,850
ตัวอย่างต่อมาคู่เงิน USD/JPY ถ้าข่าวบอกว่าดอลล่าร์สหรัฐกำลังอ่อนค่า ตามหลักแล้วจะไม่มีการปรับตัวขึ้นเหมือนคู่เงิน EUR/USD เพราะว่าถ้า USD/JPY = 140 นั่นหมายถึงต้องนำเงิน 140 เยนเพื่อไปซื้อดอลล่าร์สหรัฐได้ 1 ดอลล่าร์ แต่ตัวเลขจากข่าวบอกว่าดอลล่าร์สหรัฐกำลังอ่อนค่า ดังนั้นการที่มูลค่าของดอลล่าร์สหรัฐลดลงคราวนี้ก็จะใช้เงินเยนน้อยลงในการไปซื้อนั่นเองก็อาจจะเป็น USD/JPY = 130 ซึ่งกราฟราคา USD/JPY ก็จะมีการปรับตัวลดลง
บทสรุป
การวิเคราะห์กราฟราคาด้วยตัวเลขจากข่าวในตลาด Forex นั้น ต้องดูให้เห็นภาพเป็นสกุลเงินหลัก สกุลเงินรอง อย่างเช่นตัวอย่างต่าง ๆ ในบทความนี้จะดูที่สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ USD แล้วดูว่าเงินดอลล่าร์อยู่ตำแหน่งสกุลเงินหลัก (ขึ้นต้น) หรือสกุลเงินรอง (ต่อท้าย) หาก USD เป็นสกุลเงินรองในขณะที่กำลังอ่อนค่า กราฟราคาก็จะมีการปรับตัวขึ้น แต่หาก USD เป็นสกุลเงินหลักในขณะที่กำลังอ่อนค่า กราฟราคาก็จะปรับตัวลดลง
นี่ก็เป็นตัวอย่างให้เข้าใจว่าหากมีการประกาศตัวเลขต่าง ๆ ออกมาจากข่าว ก็จะสามารถทำให้พอวิเคราะห์กราฟราคาได้ว่าสภาวะตลาดนั้นจะเป็นแบบใดในแต่ละคู่เงิน